ส่วนประกอบของประโยค



ส่วนประกอบของประโยค


ประโยคมีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วนคือ ภาคประธานและภาคแสดง เช่นผู้หญิงชอบน้ำหอม


                                                     ภาคประธาน      :    ผู้หญิง 
                                                     ภาคแสดง       :    ชอบน้ำหอม 


      โดยปกติ ภาคประธานเป็นส่วนที่ผู้ส่งสารมักกล่าวถึงก่อน ส่วนภาคแสดงนั้นเป็นส่วนที่บอกว่าสิ่งที่กล่าวถึงนั้นทำอะไร อยู่ในสภาพใด หรือเป็นอะไร

        ผู้พูดอาจเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในประโยคโดยเพิ่มคำบางคำ เช่น ผู้หญิงคนนั้นชอบน้ำหอมราคาแพง หรืออาจเพิ่มประโยคเข้าไปทั้งประโยคทำให้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ผู้หญิงที่อยู่ในห้องสีขาวชอบน้ำหอมที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ


ประโยคที่เพิ่มขึ้นอาจสัมพันธ์กับประโยคเดิมโดยมีคำเชื่อม และ ถ้า แต่ หรือ จึง ฯลฯ เช่น

 ผู้หญิงชอบน้ำหอมส่วนผู้ชายชอบโคโลญจน์ 


ประโยคบางคู่ ประธานและ/หรือ กรรมหรือกริยา หรือส่วนขยายต่างกัน เช่น


            ๑. ก. เขาฟังเพลงอย่างตั้งใจ
            ข. เขาฟังเพลงด้วยความตั้งใจ

            ๒. ก. หลักเกณฑ์การให้คะแนนมีมาก
            ข. การให้คะแนนมีหลักเกณฑ์มาก

            ๓. ก. แม่ชมเชยเขามาก
            ข. เขาได้รับการชมเชยจากแม่มาก

 ตัวอย่างที่ ๑ ประโยค ก และ ข ต่างกันที่ส่วนขยาย
 ตัวอย่างที่ ๒ ประธานของประโยค ก กับประโยค ข ต่างกัน และประโยค ก ไม่มีกรรม ประโยค ข มีกรรม
 ตัวอย่างที่ ๓ ประธาน กริยา กรรม ของประโยค ก กับประโยค ข ต่างกัน


ประโยคบางคู่ มีความซับซ้อนต่างกัน เช่น

            ๑. ก. เขาไม่ซื้อของถูก
            ข. เขาไม่ซื้อของที่มีราคาถูก

            ๒. ก. เรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว
            ข. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว


ประโยค ก ในตัวอย่างที่ ๑ และสองมีคำจำกัดความหมายคือ ถูก และ นี้ ส่วนประโยค ข ใน ตัวอย่างที่ ๑ และ ๒ มีประโยคช่วยจำกัดความหมายคือ ที่มีราคาถูก และที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว

ในบางกรณีผู้พูดอาจแสดงความคิดอย่างเดียวกันโดยใช้ประโยคหลาย ๆ ประโยคก็ได้ หรือรวมประโยคเหล่านั้นเข้าด้วยกันโดยใช้คำเชื่อมก็ได้ หรือทำให้กลายเป็นส่วนประกอบของอีกประโยคหนึ่งก็ได้





1 ความคิดเห็น: